จอดรถติดไฟแดงควรใส่ เกียร์รถยนต์ P หรือ N กันแน่?
ปกติแล้วการหยุดรถติดไฟแดงควรใส่ เกียร์รถยนต์ ที่ N หรือเกียร์ P แล้วเกียร์ P และแต่ละเกียร์นั้นควรใช้สำหรับจอดรถในกรณีไหนบ้าง? ตามโตโยต้ากาญจนบุรีไปดูกัน
ก่อนที่จะไปดูความแตกต่างของการใช้เกียร์ P และเกียร์ N มาดูตำแหน่งต่างๆของเกียร์ออโต้กันก่อนดีกว่าค่ะ
1. P (Parking)
ใช้สำหรับจอดรถ ซึ่งจะล็อคล้อไว้ไม่ให้รถเคลื่อน โดยเราจะเปลี่ยนเกียร์มาที่ P เมื่อรถจอดนิ่งสนิทแล้วและต้องการดับเครื่อง เลิกใช้งาน หรือเมื่อต้องการจอดรถบนทางลาดชัน (ข้อแนะนำ : ควรดึงเบรคมือ เสริมด้วย เพื่อป้องกันเกียร์เสียหาย ถ้าถูกชนท้าย) นอกจากนั้น ก่อนสตาร์ทรถ ตำแหน่งเกียร์ควรจะอยู่ที่ P เช่นเดียวกัน
2. R (Reverse)
คือ เกียร์ถอยหลัง โดยเมื่อเกียร์มาอยู่ที่ตำแหน่ง R นี้แล้ว รถจะถอยหลังไปได้เองอย่างช้าๆ โดยไม่ต้องเหยียบคันเร่งเลย (ข้อแนะนำ: ขณะกำลังถอยหลัง ไม่ควรเหยียบคันเร่ง เพราะจะทำให้รถถอยหลังไปอย่างรวดเร็ว อาจจะชนคนได้ ดังนั้นควรวางเท้าไว้ที่บนแป้นเบรค เพื่อเตรียมพร้อมในการเหยียบเบรค ขณะทำการถอยหลัง)
3. N (Neutral)
คือ เกียร์ว่าง ใช้ เมื่อต้องการจอดรถไว้ชั่วคราว เช่น ขณะจอดรถติดไฟแดง และเมื่อเกียร์อยู่ในตำแหน่ง N นี้ รถจะสามารถถูกเข็นไปได้ (เวลาที่เราจอดรถขวางหน้ารถคันอื่นๆ ตามห้าง ควรใส่เกียร์ว่าง และปลดเบรคมือออกด้วย)
4. D หรือ D4
คือ เกียร์เดินหน้า 4 Speed ใช้ในการขับขี่ปกติ โดยเมื่อเปลี่ยนเกียร์มาที่ D แล้ว รถจะเริ่มออกตัว แล่นไปเองอย่างช้าๆ และเมื่อเหยียบคันเร่ง รถจะเริ่มเปลี่ยนเกียร์เองอัตโนมัติ โดยเริ่มจากเกียร์ 1 แล้วไปเกียร์ 2 แล้วไปเกียร์ 3 จนถึงสูงสุดที่เกียร์ 4 ขึ้นอยู่กับความเร็วของรถ (ปกติ ถ้าวิ่งบนทางราบ เราจะใช้เกียร์ D นี้บ่อยสุด)
5. 3 หรือ D3
คือ เกียร์เดินหน้า 3 Speed ส่วนใหญ่ใช้ในการขับขึ้น-ลงเนินที่ไม่ชันมาก เช่น ขึ้นสะพาน โดยรถจะเปลี่ยนเกียร์เองอัตโนมัติ โดยเริ่มจากเกียร์ 1 แล้วไปเกียร์ 2 จนถึงสูงสุดที่เกียร์ 3 นอกจากนี้เรายังใช้ในกรณีที่ต้องการเร่งแซงรถที่อยู่ข้างหน้าด้วย โดยขณะที่รถวิ่งด้วยตำแหน่งเกียร์ D4 เป็นระยะเวลานาน เมื่อเปลี่ยนเป็นเกียร์ D3 จะทำให้เครื่องยนต์มีกำลัง ทำให้เครื่องแรงและสามารถแซงไปได้อย่างรวดเร็ว
6. 2 หรือ D2
คือ เกียร์เดินหน้า 2 Speed ใช้เมื่อต้องการขับรถขึ้น-ลงเนิน หรือเขาที่ค่อนข้างชัน หรือ ขับขึ้น-ลง ตามห้าง โดยรถจะเปลี่ยนเกียร์เองอัตโนมัติ โดยเริ่มจากเกียร์ 1 จนถึงสูงสุดที่เกียร์ 2
7. L (Low)
คือ เกียร์ 1 ซึ่งจะใช้ในการขับขึ้น-ลง เขาที่สูงชันมากๆ เมื่อลงเขาด้วยเกียร์ L จะเป็นการใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรค เพื่อลดการเหยียบเบรค เพราะอาจจะทำให้ผ้าเบรคหมดเร็วได้
สำหรับความแตกต่างในการใช้งานของเกียร์รถยนต์ เกียร์ P และเกียร์ N นั้น ขอยกตัวอย่างเหตุการ์ณขึ้นมาตามนี้ค่ะ
รถยนต์ที่ใช้ระบบเกียร์รถยนต์อัตโนมัติ จะมีตำแหน่งเกียร์ P และเกียร์ N ซึ่งมีการทำงานในลักษณะ “เกียร์ว่าง” เหมือนกัน ไม่ทำให้รถเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่ความพิเศษของเกียร์ P จะอยู่ที่การล็อคสลักเกียร์ ทำให้รถไม่สามารถเข็นได้คล้ายกับการดึงเบรกมือ
สำหรับการหยุดรถติดไฟแดงโดยทั่วไป ควรใช้ตำแหน่งเกียร์ N เนื่องจากสามารถสลับไปยังตำแหน่งเกียร์ D ได้สะดวกกว่า ขณะที่รถบางรุ่นจะทำการปลดล็อคประตูอัตโนมัติเมื่อผลักคันเกียร์ไปยังตำแหน่ง P ด้วย จึงไม่ควรผลักไปยังเกียร์ P หากจอดติดไฟแดง
ส่วนตำแหน่งเกียร์ P ควรใช้เมื่อจอดรถดับเครื่องยนต์เท่านั้น จะช่วยให้รถอยู่กับที่ หากจอดรถบนทางลาดชันควรใช้เบรกมือร่วมด้วยเพื่อลดภาระของสลักเกียร์ และไม่ควรจอดรถขวางรถคันอื่นที่มีการเข้าออกด้วยเกียร์ P เพราะรถจะไม่สามารถเข็นได้เลย
รู้แบบนี้แล้วมาใช้เกียร์ให้ถูกต้องกันดีกว่าค่ะ เพื่อจะได้ถนอมรถให้อยู่กับเราไปได้นานๆค่ะ
หากลูกค้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับเกียร์รถยนต์ ทางศูนย์โตโยต้ากาญจนบุรี ยินดีให้คำแนะนำ