การตรวจสภาพรถยนต์ เบื้องต้นง่ายๆ..ได้ที่บ้าน
การตรวจเช็คสภาพรถยนต์เบื้องต้น จะทำให้ทราบปัญหาแต่เนิ่นๆ
และแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีซึ่งทางโตโยต้า กาญจนบุรี
มีวิธีตรวจเช็คง่ายๆ มาฝากคุณได้อย่างลงตัว
สำหรับการตรวจสภาพรถยนต์เบื้องต้น มีหลายจุดที่เราสามารถทำการบำรุงรักษาด้วยตนเองได้ง่ายๆ หากมีความรู้ทางด้านกลไกเพียงเล็กน้อยและมีเครื่องมือพื้นฐานอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามในการซ่อมบำรุงรักษาชิ้นส่วนบางอย่างต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษและความชำนาญเฉพาะทาง
ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือให้ช่างที่มีประสบการณ์เป็นผู้ตรวจซ่อมให้ การเข้าศูนย์บริการโตโยต้า กาญจนบุรีนั้นนอกจากจะได้ช่างที่มีประสบการณ์เป็นผู้ดูแลแล้ว จะมีการเก็บข้อมูลการซ่อมเอาไว้ ซึ่งจะเป็นประโยขน์ต่อการรับประกันและการตรวจซ่อมครั้งต่อไป และข้อแนะนำในการตรวจเช็คเบื้องต้นมีดังนี้
9 วิธีง่ายๆ ที่คุณก็สามารถตรวจเช็ครถยนต์เองได้
1. การตรวจเช็คแรงดันลมยาง
ควรตรวจเช็คทุกๆ 2 สัปดาห์ หรืออย่างน้อยเดือนละครั้ง รวมถึงยางอะไหล่ เพราะแรงดันยางที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ไม่สะดวกสบายในการขับขี่ อายุการใช้งานสั้นลง และไม่ปลอดภัยอีกด้วย
1.1 ตรวจเช็คแรงดันขณะที่ยางยังเย็นเท่านั้น (จอดแล้วอย่างน้อย 3 ชม. หรือขับไม่เกิน 1.5 กม.) เพราะจะทำให้การตรวจเช็คแม่นยำมากยิ่งขึ้น
1.2 ใช้เกจวัดแรงดันลมยางทุกครั้ง เพราะการใช้สายตาหรือการสัมผัสภายนอกมีความผิดพลาดได้ง่าย แรงดันลมยางที่ผิดค่ากำหนด 2-3 ปอนด์ มีผลต่อการขับขี่และการควบคุมรถได้
1.3 ไม่ปล่อยแรงดันลมยางหลังการขับขี่ เนื่องจากแรงดันลมยางจะเพิ่มขึ้นจากความร้อนหลังการขับขี่
1.4 ปิดฝาปิดวาล์วเติมลมยางทุกครั้ง ถ้าไม่มีฝาปิด สิ่งผิดปกติหรือความชื้นจะเข้าไปภายในแกนวาล์วและทำให้ลมรั่วได้
2. การตรวจเช็คสภาพยางว่ายังมีสภาพดีหรือไม่
ให้สังเกตจาก “ตัวบ่งชี้ดอกยางสึก” โดยจะมีสัญลักษณ์เป็นเครื่องหมาย “ ” อยู่ด้านข้างดอกยางแต่ละเส้นเพื่อบอกแนวตำแหน่ง “ตัวบ่งชี้ดอกยางสึก” จะช่วยให้เราทราบว่าเมื่อใดควรเปลี่ยนยาง เมื่อดอกยางสึกเหลือเพียง 6.6 มม. หรือน้อยกว่า จะปรากฎตัวบ่งชี้ให้เห็น หากสังเกตเห็นรอยดังกล่าว 2 แนว หรือมากกว่า ควรเปลี่ยนยางใหม่ ยิ่งดอกตื้นมากเท่าไร ความเสี่ยงต่อการลื่นไถลก็มากขึ้นเท่านั้น ถ้ายางเสียหาย เช่น ฉีกขาด แยก แตกเป็นรอยลึกพอที่จะทำให้ยางแตกได้ หรือเป็นรอยนูนอันเนื่องมาจากความเสียหายภายใน ควรเปลี่ยนยางใหม่ ถ้ายางแบนบ่อยๆ ควรปรึกษาศูนย์บริการโตโยต้า กาญจนบุรี และถ้ายางมีอายุการใช้งานมากกว่า 6 ปี ต้องให้ช่างผู้ชำนาญการตรวจเช็คแม้ไม่เกิดรอยเสียหายก็ตาม เพราะยางจะเสื่อมสภาพไปตามเวลาแม้ไม่ได้ใช้งาน สำหรับยางอะไหล่ก็เช่นกัน
3. การตรวจเช็คระดับน้ำมันเครื่อง มีขั้นตอนการตรวจเช็คดังนี้
3.1 อุ่นเครื่องยนต์พอให้อุณหภูมิทำงาน
3.2 จอดรถบนพื้นราบ
3.3 ดับเครื่องยนต์ทิ้งไว้ 5 นาที (ให้น้ำมันไหลกลับอ่างน้ำมันเครื่อง)
3.4 ดึงก้านวัดออกแล้วเช็ดให้สะอาด
3.5 เสียบก้านวัดกลับเข้าไปใหม่ให้ลึกสุด
3.6 ดึงก้านวัดออกตรวจดูระดับน้ำมันเครื่อง (ควรอยู่ระหว่างระดับต่ำสุดกับระดับเต็ม) หากพบว่าระดับน้ำมันต่ำกว่า หรือเหนือกว่าระดับต่ำสุดเล็กน้อย ให้เติมน้ำมันเครื่องชนิดเดียวกันลงไป
4. ตรวจเช็คระดับน้ำหล่อเย็น
ควรดูระดับน้ำหล่อเย็นในถังพักขณะที่เครื่องยนต์เย็น ควรอยู่ระหว่าง “Full” กับ “Low” หรือต่ำกว่าให้ใช้น้ำยาชนิดเดียวกันเติมจนถึงระดับ “Full” ถ้าระดับลดลงเร็วผิดปกติ แสดงว่าเกิดการรั่วของระบบ ให้ตรวจดูหม้อน้ำ ท่อยาง ฝาปิด และปั๊มน้ำ ถ้าไม่พบควรนำรถเข้าศูนย์บริการโตโยต้า กาญจนบุรีเพื่อตรวจสอบ
5. การตรวจเช็คระดับน้ำมันเบรกให้อยู่ในระดับปกติ
ดูระดับกระปุกที่น้ำมันเบรกมีเส้นบอกระดับ “MAX” และ “MIN” ระดับน้ำมันเบรกควรอยู่ที่ “MAX” อยู่เสมอ สาเหตุที่มีผลทำให้ปริมาณน้ำมันเบรกลดลง 2 ข้อ คือ
– มีการรั่วออกจากระบบ ระดับน้ำมันลดลงเร็วผิดปกติ ควรนำเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็คสาเหตุ
– การสึกหรอของผ้าเบรก ระดับน้ำมันเบรกจะลดน้อยลงและช้าในกรณีที่จำเป็นต้องเติมน้ำมันเบรก ควรเป็นน้ำมันเบรกชนิดเดียวกัน
6. การตรวจเช็คสภาพแบตเตอรี่
ให้ตรวจขั้วของแบตเตอรี่ โดยจะต้องไม่มีขี้เกลือ (หากมีขี้เกลือให้ทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนและใช้จารบีทาเคลือบ) ต้องไม่ผุกร่อน หลวม แตกร้าว หรือแคล้มป์รัดหลุดหลวม สภาพด้านนอกไม่บวมหรือมีรอยรั่วซึม เช็คระดับน้ำแบตเตอรี่ (น้ำกรด) ต้องอยู่ระหว่าง “UPPER” กับ “LOWER” ถ้าพบว่าระดับต่ำกว่าให้เติมน้ำกลั่นลงไป (หรือรุ่นที่มีตัวชี้บอกสภาพแบตเตอรี่ “ตาแมว” ให้ดูลักษณะเปรียบเทียบตามสติกเกอร์แนะนำ)
7. การตรวจน้ำฉีดล้างกระจก ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ
ดูระดับจากช่องบอกตำแหน่งหรือบางรุ่นที่มีก้านวัด เราอาจใช้น้ำมันสะอาดธรรมดาเติมแทนน้ำยาล้างกระจกได้ แต่ไม่ควรปล่อยให้น้ำในถังน้ำล้างกระจกแห้ง เพราะถังน้ำอาจเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ไม่ควรใช้น้ำที่มีตะกอนเติม เพราะหัวฉีดน้ำล้างกระจกอาจอุดตันได้ ไม่ควรใช้สารอย่างอื่นที่นอกเหนือจากคู่มือระบุไว้เติมลงในถังเพราะอาจทำความเสียหายแก่สีรถได้
8. กรองอากาศเครื่องยนต์และกรองอากาศปรับอากาศ
(วิธีการถอดในรถแต่ละรุ่นจะแสดงรายละเอียดไว้ประจำรถ) ให้ดูสภาพผิวด้านนอกด้านที่รับอากาศเข้า หากความสกปรกฝังแน่นไม่สามารถเป่าออกได้ด้วยลมควรเปลี่ยนใหม่ (หากใช้รถยนต์บริเวณที่มีการจราจรติดขัดหรือมีฝุ่นมาก อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนกรองอากาศเร็วกว่าที่กำหนด)
9. การตรวจเช็คและเปลี่ยนฟิวส์ตามความจำเป็น
ฟิวส์คืออุปกรณ์นิรภัยชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ตัดไฟเมื่อเกิดลัดวงจรและการใช้กระแสเกินในวงจรไฟฟ้า ถ้ามีระบบหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าบางอย่างไม่ทำงาน อาจมีสาเหตุมาจากฟิวส์ได้ ตำแหน่ง ชนิด ขนาด และคำแนะสำหรับการปฏิบัติจะบอกไว้ในคู่มือประจำรถ ถ้ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนฟิวส์ใหม่ แต่ไม่สามารถหาฟิวส์ที่มีขนาดแอมแปร์ที่เท่ากันได้ ให้ใช้ฟิวส์ที่มีขนาดแอมแปร์ต่ำกว่า แต่ควรให้ใกล้เคียงมากที่สุด (ถ้าฟิวส์มีขนาดต่ำกว่าที่กำหนดฟิวส์อาจขาดได้อีก ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติ) แต่ควรหาฟิวส์ที่มีขนาดเท่ากันโดยเร็วที่สุด ทางที่ดีควรตรวจเช็คฟิวส์สำรองติดประจำรถให้ครบเสมอ ถ้าฟิวส์ที่ใส่เข้าไปใหม่ขาดทันทีแสดงว่าระบบมีปัญหา ควรติดต่อศูนย์บริการ อย่าใช้ฟิวส์ที่มีขนาดแอมแปร์สูงกว่าที่กำหนดหรือวัตถุอื่นแทนฟิวส์ เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายลุกลามมากยิ่งขึ้นและอาจเกิดไฟลุกไหม้ได้
หากลูกค้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจเช็คสภาพรถยนต์
ทางศูนย์โตโยต้า กาญจนบุรี ยินดีให้คำแนะนำ
โดยสามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 034-540-789
คุณสามารถติดตามข่าวสารดีๆเกี่ยวกับรถได้แบบฟรีๆ ที่
Line@ Click > > @toyotakan1995
หากบทความนี้ดีมีประโยชน์ อย่าลืมกดปุ่มแชร์ด้านล่างให้เพื่อนๆของคุณกันนะคะ !